ทันตกรรมรากฟันเทียม

รากฟันเทียม 

การสูญเสียฟันแท้ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากการถอนฟันจากอุบัติเหตุ หรือจากฟันผุจนรักษารากฟันไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหารและเสียความมั่นใจ ดังนั้น “รากฟันเทียม” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งแก้ไขปัญหา ให้ผู้ที่สูญเสียฟันสามารถกลับมาบดเคี้ยวอาหารได้ใกล้เคียงฟันธรรมชาติที่สุด 

รากฟันเทียมคืออะไร 

รากฟันเทียม คือ วัสดุคล้ายรากฟันที่ผลิตขึ้นมาจากไทเทเนียม เข้ากับร่างกายได้ดี โดยจะฝังลงไปในกระดูกขากรรไกร ก่อนที่จะมีการใส่รากฟันเทียม,ครอบฟันหรือสะพานฟันทั้งแบบติดแน่นและแบบถอดได้ เพื่อให้สามารถใช้งานฟันเทียมได้อย่างดีมากยิ่งขึ้น จุดประสงค์ของการทำรากฟันเทียมนั้นคือเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยสามารถใช้รากฟันเทียมเพื่อยึดครอบฟันหรือสะพานฟันแบบถาวร หรือใช้ยึดฟันปลอมแบบถอดได้ ช่วยให้ฟันปลอมยึดอยู่กับที่และไม่หลวมหลุดง่าย 

ข้อดีของการใส่รากฟันเทียม 

  • ใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากที่สุด  
  • เพิ่มความมั่นใจ และคุณภาพชีวิตดีขึ้น  
  • สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดี 
  • ทดแทนฟันที่ถูกถอนไปโดยไม่กระทบฟันซี่ข้างเคียง  
  • มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าฟันปลอมชนิดอื่น 

ใครที่เหมาะกับรากฟันเทียม 

สำหรับผู้ที่สูญเสียฟันแท้ไป การใส่รากฟันเทียมนั้น ควรทำในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เนื่องจากกระดูกขากรรไกรจะเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และผู้ที่จะทำรากเทียมนั้น ควรที่จะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำการผ่าตัดโดยใช้ยาชาได้ สำหรับบุคคลที่ไม่ควรทำรากฟันเทียม ได้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี บุคคลที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง 

ระยะเวลาในการทำรากฟันเทียม 

สำหรับระยะเวลาในการรักษานั้นจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นปริมาณและคุณภาพของกระดูกขากรรไกร ที่อาจจะต้องมีการเสริมกระดูกให้แข็งแรง จำนวนฟันที่ต้องการทำรากเทียม เป็นต้น 

เทคโนโลยี CAD/CAM ตัวช่วยร่นระยะเวลาออกแบบชิ้นงานทางทันตกรรม 

ในปัจจุบันนี้ มีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลดระยะเวลาในการทำครอบฟันให้เสร็จภายในวันเดียว นั่นก็คือเทคโนโลยี Dental Digital CAD/CAM ที่จะช่วยลดระยะเวลาในการทำรากฟันเทียมให้สั้นลง ด้วยวิธีการส่งแล็บ และสแกนช่องปากแทนการพิมพ์ปากแบบเดิม โดยจะเริ่มจากการเอกซเรย์ 3 มิติ ถ่ายรูปและสแกนซี่ฟัน หลังจากนั้นจะเป็นการออกแบบชิ้นงานด้วยโปรแกรม และผลิตชิ้นงาน ก่อนจะนำมาใส่ในช่องปากให้กับผู้รับการรักษา โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงเท่านั้น 

ขั้นตอนการใส่รากฟันเทียมมีขั้นตอนการดังต่อไปนี้ 

1.X-ray  และตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อวางแผนการรักษา 

ในขั้นตอนแรก ทันตแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพช่องปากของคนไข้ โดยจะทำการ X-ray เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และสามารถออกแบบการฝังรากเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาถึงฟันข้างเคียง ตำแหน่งเส้นประสาท ความแข็งแรงของมวลกระดูก ตำแหน่งของขากรรไกร รวมถึงสุขภาพช่องปากอื่น ๆ 

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ต้องอาศัยความชำนาญของทันตแพทย์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและแม่นยำมาเป็นตัวช่วย เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดียิ่งขึ้น 

2. เตรียมช่องปากให้พร้อม 

การทำรากฟันเทียมไม่สามารถทำได้ หากว่ายังมีปัญหาเรื่องช่องปากอยู่ อย่างเช่น โรคเหงือก ซึ่งหากคนไข้มีปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปาก จะต้องนัดหมายเพื่อทำการรักษา ก่อนที่จะใส่รากฟันเทียม  

นอกจากนี้ หากพบว่าขากรรไกรมีลักษณะที่เตี้ยเกินไป หรือมีโพรงอากาศอยู่ใกล้มากเกินไป ทันตแพทย์อาจจะตัดสินใจทำการเสริมกระดูก หรือในกรณีที่มวลกระดูกไม่แข็งแรงก็อาจจะต้องปลูกถ่ายกระดูกใหม่ เพื่อให้ช่องปากแข็งแรงเพียงพอที่จะรับฟันใหม่ได้ 

3. ผ่าตัดฝังตัวรากเทียม 

หลังจากเตรียมช่องปากพร้อมแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการผ่าตัดเพื่อติดตั้งตัวรากเทียมลงไป โดยทันตแพทย์จะทำการเปิดเหงือกแล้วเจาะรูบริเวณกระดูกในตำแหน่งที่กำหนดไว้ จากนั้นติดตั้งรากฟันเทียมลงไป แล้วทำการเย็บปิดแผล 

จากนั้น เป็นช่วงที่ร่างกายต้องการการพักฟื้น เพื่อให้รากฟันใหม่สมานเข้ากับกระดูกขากรรไกร เป็นกระบวนการที่ร่างกายจะตอบสนองกับรากฟันเทียม และสร้างรากฐานที่ใกล้เคียงกับฟันจริง ซึ่งระหว่างนี้อาจทันตแพทย์อาจนัดติดตามผล ก่อนที่จะใส่ฟันปลอมในลำดับต่อไป  

4. ทำครอบฟันหรือฟันเทียม 

เมื่อรากฟันเทียมสมานเข้าไปกับกระดูกและเหงือกแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำครอบฟันหรือติดตั้งฟันเทียม ซึ่งฟันที่ใส่จะมีขนาดและรูปร่างคล้ายกับฟันซี่เดิมที่หลุดไป เพื่อให้พอดีกับช่องว่างในปาก และสามารถทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ จนกลายเป็นเหมือนฟันแท้ซี่ใหม่อย่างสมบูรณ์ 

5. ติดตามผลการรักษา 

แม้ว่าทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ทันตแพทย์จะนัดหมายเพื่อติดตามประสิทธิภาพของรากฟันเทียม ว่าสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีข้อบกพร่องอะไรที่ต้องแก้ไขหรือไม่ หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ก็จะเว้นระยะการนัดหมายและแนะนำการดูแลช่องปากตามปกติ  

อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากทำรากฟันเทียม 

  • รากฟันเทียมอักเสบ เนื่องจากการการรับประทานอาหารที่มีรสจัด การเคี้ยวของแข็ง การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่จัด 
  • มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณฟันที่ใส่รากเทียมประมาณ 5 – 9 วัน หากยังปวดเท่าเดิมเหมือนวันแรก หรือมีเลือดไหลไม่หยุดควรกลับมาทันตแพทย์โดนทันที 
  • มีอาการบวม สามารถประคบเย็นได้ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพบทันตแพทย์ทันที 
  • เกิดการติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด หากมีอาการอักเสบ เป็นหนอง หรือฟันเทียมโยก ควรแจ้งทันตแพทย์ทันที 

หลังจาการใส่รากฟันเทียมไปแล้วจะเกิดอะไรได้บ้าง และควรปฏิบัติตัวอย่างไร 

  • หลังใส่รากฟันเทียมอาจเกิดอาการ ปวด บวม อักเสบ ได้คล้ายกับเวลาที่เราได้รับการถอนฟันหรือผ่าฟันคุดนั่นเอง สิ่งที่สำคัญคือการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของเราและปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด 
  • สัปดาห์แรกควรรับประทานยาฆ่าเชื้อตามที่ได้รับจากทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด 
  • ควรทานอาหารอ่อนๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรือร้อนจัด 
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ จนกว่าจะรักษาเสร็จ 
  • แปรงฟันในบริเวณอื่นได้ปกติแต่หลีกเลี่ยงการแปรงฟันบริเวณแผลโดยตรง การบ้วนน้ำเกลือทุกครั้งหลังอาหารสามารถช่วยลดการติดของเศษอาหารบริเวณแผล ลดโอกาสการเกิดการอักเสบได้ 

หากมีอาการที่ทำให้เกิดความกังวลใดๆ สามารถมาติดต่อมาที่แผนก หรือมาพบทันตแพทย์ได้ทันที 

สำหรับการทำรากฟันเทียมนั้น ควรเลือกรักษากับทันตแพทย์ที่มีความน่าเชื่อถือและความชำนาญเพื่อให้การทำรากฟันเทียมประสบผลสำเร็จและสามารถใช้งานได้ดี ซึ่งสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ และควรเข้ารับการตรวจติดตามผลทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าสุขภาพช่องปากที่แข็งแรงจะอยู่กับเราไปอีกนาน 

แชร์โพสต์นี้

Facebook
Twitter
LinkedIn