25

Years

of excellent dental care and remain committed for years to come.

รากฟันเทียม…ทางเลือกยุคใหม่ของการใส่ฟัน

ในปัจจุบัน สังคมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และสังคมของผู้ที่เอาใจใส่ในสุขภาพมากขึ้น รวมไปถึงสุขภาพในช่องปากและฟันด้วย และหนึ่งในปัญหาที่พบได้บ่อย คือปัญหาการสูญเสียฟัน จากสาเหตุ เช่น ฟันผุ หรือโรคปริทันต์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านอื่นตามมา เช่น ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวลดลง การล้มเอียงของฟันข้างเคียงและฟันคู่สบ เป็นต้น

เมื่อมีการสูญเสียฟันเกิดขึ้น การใส่ฟันทดแทนนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา รวมถึงเป็นการบูรณะความสวยงาม และประสิทธิภาพของการบดเคี้ยวกลับคืนมาให้แก่ผู้ป่วยได้อีกด้วย
การใส่ฟันทดแทนนั้นสามารถแบ่งประเภท ได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ การใส่ฟันแบบถอดได้ ได้แก่ ฟันปลอมถอดได้ (removable denture) และแบบติดแน่น ได้แก่ ครอบฟัน/สะพานฟัน (crown/bridge) และรากฟันเทียม (implant)

สำหรับการรักษาโดยการใส่รากฟันเทียมนั้น ในปัจจุบันเป็นการรักษาที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ต่ำลง และประสิทธิภาพและความสำเร็จในการฝังรากฟันเทียมที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน เนื่องด้วยการวิจัยและพัฒนาวัสดุ และการออกแบบรากฟันเทียมที่ดีขึ้น มีการศึกษาองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับรากฟันเทียมออกมาแพร่หลายมากขึ้น

ซึ่งสิ่งที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการใส่รากฟันเทียมทดแทน เมื่อเทียบกับการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ คือ การบดเคี้ยวที่ดีขึ้นใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากรากฟันเทียมนั้นเกิดการยึดตัวแน่นกับกระดูกขากรรไกรรอบรากฟัน ทำให้สามารถรับแรงบดเคี้ยวได้ดีขึ้นและมากขึ้น เมื่อเทียบกับฟันปลอมแบบถอดได้ ให้ความสวยงามและความสะดวกสบายในช่องปากมากกว่าการใส่ฟันปลอมอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเทียบกับการใส่สะพานฟัน การใส่รากฟันเทียมทดแทนนั้นยังทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องสูญเสียเนื้อฟันของฟันข้างเคียงที่จะต้องถูกกรอออกไปจากการกรอฟันเพื่อทำสะพานอีกด้วย

เมื่อผู้ป่วยตัดสินใจที่จะเข้ารับการฝังรากเทียมเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป ขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำรากฟันเทียมที่ผู้ป่วยควรทราบ มีดังต่อไปนี้

  1. เข้ารับการตรวจประเมินสภาพช่องว่างที่ต้องการใส่ฟัน และสภาพกระดูกที่จะรองรับรากเทียม ร่วมกับการถ่ายภาพรังสี x-ray และ/หรือ CT scan
  2. รับการฝังรากเทียมตามแผนการรักษา อาจมีการเสริมกระดูกร่วมด้วย ในรายที่สันกระดูกยุบตัวเนื่องจากสูญเสียฟันไปเป็นเวลานาน
  3. เมื่อแผลหายดี และระยะเวลาผ่านไประยะหนึ่ง รากฟันเทียมที่ได้รับการฝังจะยึดติดแน่นดีกับกระดูกแล้ว ทันตแพทย์ที่เป็นผู้ใส่ฟัน จะนัดผู้ป่วยมาเพื่อพิมพ์ปาก เพื่อทำชิ้นงานมาใส่บนรากฟันเทียม
  4. ผู้ป่วยได้รับการใส่ชิ้นงานที่เป็นครอบฟัน/สะพานฟัน หรืออื่น ๆ บนรากฟันเทียม โดยทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อกลับมาตรวจเช็คชิ้นงาน หลังจากที่ใส่ไปแล้วเป็นระยะ ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ การรักษาด้วยการใส่รากฟันเทียม มีข้อจำกัดบางประการที่อาจทีผลกระทบต่อความสำเร็จในการรักษาได้ เช่น กรณีมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานที่ผู้ป่วยไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ ซึ่งจะได้รับการประเมินโดยทันตแพทย์ก่อนรับการฝังรากฟันเทียม

การใส่รากฟันเทียม เป็นทางเลือกที่สามารถบูรณะประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวและความสวยงามให้กลับคืนมาแก่ผู้ป่วยได้ จึงเป็นทางเลือกที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้แนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวางแผนการรักษาโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้แผนการรักษาที่เหมาะสมและได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดในผู้ป่วยแต่ละราย

แพทย์

ทพ. กิตติศักดิ์ เบญจสิริพร

ทันตแพทย์สาขาทันตกรรมประดิษฐ์

แชร์โพสต์นี้

Facebook
Twitter
LinkedIn